วันที่ 20 ตุลาคม 2564
ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล) โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 (หน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่ 3) ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุตรดิตถ์ นายกเทศมนตรีตำบลหาดกรวด ผู้บริหาร ปลัดเทศบาล และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลหาดกรวด จังหวัดอุตรดิตถ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อร้องเรียนกรณีปลาตายจำนวนมากในสระน้ำซึ่งตั้งอยู่หลังวัดดงช้างดี ต.หาดกรวด อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งน้ำในสระดังกล่าวมีขนาด 292 ตร.ม. โดยประชาชนได้มีการนำมาผลิตน้ำประปาเพื่อจ่ายให้กับชาวบ้าน จำนวน 2 หมู่บ้าน รวมประมาณ 200 หลังคาเรือน จำนวนประมาณ 600 คน ที่อาจได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบต่อสุขภาพจากการนำน้ำในสระมาผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยประชาชนกังวลว่าอาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีอันตราย ซึ่งจากการสอบถามผู้บริหารเทศบาลและประชาชนในพื้นที่ พบว่า มีปลาตะเพียนและปลาสร้อยในสระน้ำตายและลอยอยู่ในสระน้ำเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 และช่วงวันดังกล่าวมีฝนตก และก่อนหน้านี้น้ำในสระแห้งส่งผลให้วัชพืชรอบสระแห้งตายซึ่งต่อมามีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันส่งผลให้น้ำในสระเพิ่มปริมาณขึ้นมากจึงเกิดการท่วมขังของน้ำและเกิดการเน่าเสียของเศษวัชพืชในบริเวณขอบสระ ประกอบกับผลการตรวจวัดค่าออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) ของ ทสจ.อุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 มีค่าเท่า 1.7 มก./ล. จึงอาจเป็นสาเหตุเบื้องต้นที่ส่งผลให้ปลาตาย ซึ่งสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำในสระน้ำ จำนวน 1 ตัวอย่าง และน้ำประปาที่ผ่านกระบวนการกรองจากระบบประปาหมู่ 8 จำนวน 1 ตัวอย่าง เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 ซึ่งผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำจะใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์ประมาณ 10 วัน แล้วจะแจ้งผลการตรวจวิเคราะห์ สาเหตุ พร้อมคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป